น้ำยาอุทัย มีผลข้างเคียงในการใช้ระยะยาวหรือไม่?

sanook

ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะยังรู้จัก "น้ำยาอุทัย" กันอยู่หรือไม่ น้ำสีแดงที่ใส่ลงในน้ำเย็น ส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ หากได้ดื่มจากขันที่มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ลอยอยู่ ความฟินจะบรรยายไม่ถูก แต่บางคนก็อาจไม่ชอบ ซึ่งแค่กลิ่นก็ทำให้เวียนหัว

น้ำยาอุทัยไม่เพียงแต่ใช้ผสมน้ำดื่ม ยังมีวัยรุ่นบางคนเอามาทาปากทาแก้มแทนเครื่องสำอาง เพื่อให้ปากและแก้มดูอมชมพู เรียกได้ว่ามีประโยชน์คูณสอง

แต่...การดื่ม หรือทาน้ำยาอุทัยเป็นเวลานานๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ หลายคนอาจกังวลว่าจะทำให้ปากดำ แก้มเป็นฝ้าหรือไม่

ส่วนประกอบของน้ำยาอุทัย

1. ฝาง: ทำให้น้ำยาอุทัยมีสีแดง ช่วยบำรุงโลหิต และช่วยใหประจำเดือนมาตามปกติ

2. ดอกพิกุล: ให้รสเย็น ช่วยลดไข้ บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ และลดปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

3. ดอกมะลิ: ให้รสเย็น บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

4. หญ้าฝรั่น: ลดไข้ บำรุงเลือด บำรุงธาตุ และเป็นยาชูกำลัง

5. ดอกสารภี: รสขม ช่วยบำรุงโลหิต เจริญอาหาร และบำรุงหัวใจ

6. ดอกบุนนาค: รสขมนิดๆ ช่วยลดไข้ ขับลม แก้ตาพร่ามัว บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตและหัวใจ

7. ดอกคำฝอย: บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ลดคอเลสเตอรอล และป้องกันการอุดตันในเส้นเลือด

8. ดอกเก็กฮวย: แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ

9. เกสรบัวหลวง: รสฝาดนิดๆ บำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น และแก้วิงเวียน หน้ามืด

10. อบเชย: แก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ และเป็นยาขับลม

11. กฤษณา: บำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง และอาเจียน

12. จันทน์แดง: บำรุงเลือด

13. โกศหัวบัว: ขับลม

14. โกศเขมา: แก้โรคในปาก ในคอ แก้หอบ และขับลม

15. โกศสอ: ลดไข้ แก้ไอ ขับลม และบำรุงหัวใจ

16. โกศเชียง: ลดไข้ แก้ไอ ขับลม และบำรุงเลือด

น้ำยาอุทัยแต่ละสูตรอาจมีส่วนผสมแตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนผสมหลักคือ ฝางที่บำรุงโลหิต และสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยลดความกระหายน้ำและให้ฤทธิ์เย็น ลดความร้อน จึงเป็นที่นิยมของหลายคนด้วยกลิ่นและรสชื่นใจ

น้ำยาอุทัย อันตรายหรือไม่?

จากส่วนผสมที่ช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย จึงไม่เหมาะดื่มช่วงฤดูหนาวหรือเมื่ออยู่ในที่เย็นๆ เรื่องทาปากทาแก้มจะเป็นอันตรายหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะแพ้ส่วนผสมใดหรือไม่

ทั้งนี้ การบริโภคหรือใช้อะไรมากเกินไปไม่ดีแน่นอน แม้จะชอบกลิ่นหอมสดชื่น และรสเย็นของน้ำยาอุทัย ก็ไม่ควรทานมากเกินไป เพื่อความปลอดภัย ผสมดื่มบางๆ ในบางครั้งและเมื่อต้องการความสดชื่นก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ขยายข้อความเต็ม